หลังค่อม Kyphosis


หลังค่อม (Kyphosis) คือ อาการที่กระดูกสันหลังโค้งนูนมากผิดปกติ ในบางรายอาจสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกปวดหรือตึงบริเวณหลัง เจ็บที่กระดูกสันหลัง ในผู้ที่มีอาการหลังค่อมมากอาจลำบากเวลารับประทานอาหารหรือหายใจ สาเหตุเกิดจากการพัฒนาที่ผิดปกติของกระดูกสันหลังของทารกในครรภ์มารดา หรือการทำร้ายสุขภาพของกระดูกสันหลังด้วยการทำท่าทางหรืออยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง หรือจากความเสื่อมของกระดูกสันหลังตามวัย พบได้ในเด็ก วัยรุ่น และในผู้สูงอายุ

อาการของหลังค่อม

หลังค่อมจะมีอาการที่สังเกตได้ชัดคือ ลักษณะของหลังที่โค้งนูนมากกว่าปกติหรือมีลักษณะที่แปลกไป โดยปกติกระดูกสันหลังตอนบนจะมีลักษณะโค้งตามธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 20-45 องศา แต่ในผู้ที่มีอาการหลังค่อมจะมีความโค้งตั้งแต่ 50 องศาขึ้นไป อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับสาเหตุและองศาความโค้งนูนของหลังในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ไหล่ที่ห่อไปทางด้านหน้า รู้สึกปวดหรือตึงที่บริเวณหลัง รู้สึกเจ็บที่บริเวณกระดูกสันหลังหรือเมื่อยล้า ในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจยากลำบากเวลารับประทานอาหารหรือหายใจ หลังค่อมเกิดขึ้นได้ทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กหรือวัยรุ่นในช่วงที่มีการพัฒนาของกระดูกอย่างรวดเร็ว หากพบว่าบุตรหลานมีกระดูกสันหลังตอนบนที่โค้งนูนของผิดปกติควรพาไปพบแพทย์

สาเหตุของหลังค่อม

หลังค่อมเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกที่โค้งนูนมากผิดปกติ อาจเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ หลังค่อมที่พบทั่วไปแบ่งได้ 3 ประเภทโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • Postural Kyphosis มักพบได้ในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย เป็นผลมาจากการทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานและส่งผลต่อสุขภาพของกระดูกสันหลัง เช่น การงอหลัง การนั่งพิงพนัก การนั่งเอนหลัง หรือการสะพายกระเป่าที่มีน้ำหนักมาก เป็นต้น ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ประคองกระดูกสันหลังยืดหรือถ่างออก และดึงให้กระดูกสันหลังผิดรูป แก้ไขได้ด้วยการทำท่าทางที่ถูกต้อง เช่น การยืนตัวตรง การยืดหลัง เป็นต้น และไม่ทำร้ายสุขภาพของกระดูกสันหลัง อาการหลังค่อมประเภทนี้ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ และมักไม่พบอาการหลังค่อมมากขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่
  • Scheuermann's Kyphosis มักพบอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือ หลังจะงอหรือค่อมเป็นมุมที่ชัดเจน ไม่สามารถแก้ไขได้แม้จะทำท่าทางที่ถูกต้อง เช่น การยืนตัวตรง การยืดหลัง เป็นต้น เหมือนเช่นในผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมแบบ Postural Kyphosis อาการนี้พบได้ในเด็กวัยรุ่นชายมากกว่าในเด็กวัยรุ่นหญิง โดยเฉพาะในผู้ที่มีลักษณะผอม ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณเลือดไปเลี้ยงกระดูกสันหลังไม่เพียงพอ ทำให้กระดูกสันหลังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่และเส้นเอ็นรอบบริเวณกระดูกสันหลังมีความหนากว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นลักษณะหนึ่งทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันภายในครอบครัว พบความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังตอนบน หรือตอนล่าง ในผู้ป่วยบางรายาอาจรู้สึกเจ็บที่บริเวณส่วนที่โค้งนูนของกระดูกสันหลัง รวมถึงบริเวณเอว อาการเจ็บจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนั่งหรือการยืนเป็นเวลานาน
  • Congenital Kyphosis เกิดจากภาวะกระดูกสันหลังพัฒนาผิดปกติตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ส่วนมากจะพบว่ามีการเชื่อมรวมกันของกระดูกสันหลังตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป อาจพบอาการที่รุนแรงได้และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดตั้งแต่ในวัยเด็ก เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังที่อาจโค้งนูนไปมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นลักษณะหนึ่งทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันภายในครอบครัว หรืออาจพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือไตร่วมด้วย

การวินิจฉัยหลังค่อม

อาการหลังค่อมวินิจฉัยได้โดยแพทย์จะตรวจประวัติผู้ป่วยเบื้องต้น สอบถามเกี่ยวกับอาการ จากนั้นจะตรวจร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความโค้งนูนที่สังเกตเห็นได้ชัดถึงความผิดปกติของกระดูกสันหลัง แพทย์อาจกดที่กระดูกสันหลังเพื่อดูว่ามีอาการเจ็บบริเวณไหน หรือวินิจฉัยโดยให้ผู้ป่วยยืนเท้าชิดกัน เข่าตรง ก้มตัวไปด้านหน้า และยืดแขนทั้ง 2 ข้างไปแตะที่พื้น วิธีการนี้มีชื่อว่า Adam's Forward Bend Test เพื่อตรวจหาความโค้งนูนที่ผิดปกติของกระดูกสันหลัง รวมถึงอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การเอกซเรย์ (X-Rays) เพื่อตรวจหาองศาความโค้งที่ผิดปกติของกระดูกสันหลัง และเพื่อช่วยระบุชนิดของหลังค่อม รวมถึงการสแกนความหนาแน่นของกระดูก
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อวินิจฉัยข้อมูลเพิ่มเติมหลังการเอ็กซเรย์
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หากแพทย์สงสัยว่าอาจพบเนื้องอกหรือการติดเชื้อ
  • การตรวจระบบประสาท (Neurological Tests) ในผู้ที่มีอาการชา รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มแทง หรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในช่วงล่างของร่างกาย อาจต้องตรวจระบบประสาทเพื่อทดสอบการตอบสนอง การเคลื่อนตัวของกระแสประสาท
  • การทดสอบสมรรถภาพของปอด (Pulmonary Function Tests) เพื่อวินิจฉัยและทดสอบการหายใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหลังค่อมมาก